กางเกงตัวละหมื่นทำให้ฉันหยุดมองผู้ชายคนนี้ ไม่ใช่เพราะราคาของกางเกงแต่เพราะความบ้าของเขาต่างหาก ผู้ชายกับจักรเย็บผ้าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่คนที่ใช้เวลาสองปีไปกับการตามล่าหาจักรเย็บผ้าซิงเกอร์เกือบร้อยตัวทั่วอเมริกาเพื่อเอามาใช้เย็บเดนิมยีนส์ (เดนิม = ผ้าทอจากฝ้าย)ในแบบที่เขาต้องการรวมทั้งขายรถพอร์ชที่มีอยู่และเอาเงินทั้งหมดมาลงกับผ้านี่สิ อันนี้อาการหนัก
อิชานเป็นคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในโตเกียว หลังเรียนจบไฮสกูล ไม่มีมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นที่ไหนยอมรับเขาเข้าเรียนต่อ อิชานไปเป็นคนงานก่อสร้างอยู่หนึ่งปีเพื่อตั้งใจเก็บเงินไปเรียนภาษาอังกฤษและ street fashion ที่ลอนดอน พอเรียนจบกลับมา มีแบรนด์เสื้อผ้าวินเทจในโตเกียวเสนองานในตำแหน่ง buyer ให้กับเขา หน้าที่ของอิชานคือการออกไปสำรวจตลาดและเลือกซื้อสินค้าวินเทจรวมไปถึงเดนิมวินเทจในอเมริกา ซึ่งทีแรกอิชานก็พุ่งไปที่ลอสแองเจอลิสก่อนเลย แต่ที่นั่นคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่เยอะ การแข่งขันสูง เลยหางานเดนิมวินเทจดีๆไม่ค่อยเจอ อิชานเลยเปลี่ยนทิศไปนิวยอร์ก ซึ่งพอไปถึงนิวยอร์กและอยู่ที่นั่นได้สักพักเท่านั้นละ ความตั้งใจแต่เดิมที่แค่จะไปหาของก็เปลี่ยน
“ ตอนนั้นผมอาศัยอยู่ที่ Lower East Side แถวนั้นมีความเคลื่อนไหวของคนทำงานศิลปะให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ผมพักติดแกลเลอรี่เลยนะ มีเพื่อนเป็นศิลปินเต็มเลย ผมว่าอยู่นิวยอร์กสบายกว่าอยู่โตเกียวเยอะ ”
ในช่วงระหว่างการทำงานเป็น buyer ให้กับบริษัทญี่ปุ่นซึ่งอิชานต้องใช้ชีวิตส่วนมากของเขาในนิวยอร์ก อิชานค่อยๆสั่งสมประสบการณ์ความรู้ในเรื่องเสื้อผ้าวินเทจและเดนิม จนวันหนึ่งความสนุกของการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่มีคนทุกรูปแบบอาศัยอยู่ปะปนกันก็ทำให้อิชานนึกอยากสร้างแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายขึ้นมา มันเป็นความคิดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่ได้เตรียมแผนชีวิตข้างหน้าอะไรไว้เลย พอทำแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายไปได้สักพัก อิชานก็เริ่มเบื่อ เขาเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมาทั้งหมดมันเสียเวลา เขาทบทวนตัวเองอย่างมีสติอีกครั้งและได้คำตอบว่า ‘ ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่าง น่าจะโฟกัสกับมันเป็นเรื่องๆไปเลย ใช้เวลาทำความรู้จักมันให้มากที่สุด ทำมันให้ดี ’
‘เดนิม’
นั่นคือสิ่งที่อิชานนึกถึง
เขาเกิดความคิดใหม่ที่อยากจะทำแบรนด์เดนิมยีนส์ของตัวเอง แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นได้ เขาต้องรู้จักทุกขั้นตอนในการผลิตยีนส์ให้ได้เสียก่อนโดยเฉพาะวิธีการเย็บ อิชานหยุดทุกอย่างที่ทำอยู่ในตอนนั้นรวมทั้งแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายที่เพิ่งทำมาได้สักระยะด้วย เขาออกเดินทางไปโอกะยะมะ เมืองที่รวมไว้ด้วยแหล่งโรงงานผู้ผลิตเดนิมยีนส์กว่าร้อยแห่งในญี่ปุ่น เขาเดินเข้าออกเคาะประตูเกือบทุกโรงงานเพื่อขอสมัครเป็นคนงานเย็บผ้าโดยไม่เอาค่าแรงแต่ไม่มีโรงงานไหนยอมรับเขาเข้าทำงานเลยเพราะโรงงานโดยมากเปิดรับแต่เฉพาะพนักงานผู้หญิงที่มีอายุน้อยๆเท่านั้น
“ ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจเรื่องค่าแรงเลยนะผมแค่อยากเรียนรู้วิธีการเย็บ ”
ในที่สุดโรงงานแห่งหนึ่งรับเขาเข้าไปทำงานแบบไม่จ่ายค่าจ้างแรง การเป็นลูกจ้างผู้ชายคนเดียวในโรงงานเย็บผ้าทำให้อิชานถูกเรียกใช้ทุกสิ่งอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ จนผ่านไปสามเดือนแล้ว เขาก็ยังไม่มีโอกาสได้จับจักรเย็บผ้า เพราะวันๆปัดกวาดเช็ดถูซ่อมนู่นซ่อมนี่อย่างเดียวก็หมดวันแล้ว
“ นึกอะไรไม่ออก เขาก็จะตะโกนเรียกผม อิชาน อิชาน แต่ผมก็ทำๆไป ใช้ความอดทนอย่างเดียวเลย ”
ผ่านไปสามเดือน อิชานได้เริ่มใช้จักรเย็บผ้าโดยมีกลุ่มสาวโรงงานรุ่นป้าคอยช่วยแนะนำให้ การเย็บยีนส์คือเรื่องใหม่ของอิชาน มันเหมือนเขากำลังต้องทำความรู้จักใครสักคนอย่างถ่องแท้และเป็นคนสำคัญที่เขาคิดว่าจะปักหลักใช้ชีวิตด้วย ผ่านไปปีครึ่ง อิชานมีทักษะในการใช้จักรเย็บเดนิมยีนส์จนสำเร็จออกมาได้หนึ่งตัว ในช่วงระหว่างนั้น พอหลังเลิกงานอิชานก็ออกไปค้นคว้าข้อมูลจากโรงงานทอผ้าที่อยู่ในบริเวณนั้นเพิ่ม
“ ผมต้องรู้จนจบกระบวนการให้ได้ว่าแต่ละที่แต่ละส่วนเขาทำกันยังไง ”
ตัวฉันเองมีความเชื่อใน ‘ศรัทธา’ เสมอ เมื่อจิตของเราตั้งมั่นอยู่กับสิ่งใด สิ่งนั้นจะสามารถเกิดเป็นจริงได้ เช่นเดียวกับที่หากการจดจ่อนั้นมาจากจิตที่เป็นลบ เรื่องลบๆก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
ความมุ่งมั่นของอิชานในเรื่องเดนิมพาให้เขาไปเจอกับ MR. KIYAMA ช่างทอผ้าเดนิมในตำนานของเมืองโอกะยะมะซึ่งเป็นลุงวัย 75 ปีที่อยู่กับอาชีพของการทอผ้ามาหกสิบปีแล้ว หลังลุงคิยะมะฟังเรื่องของอิชาน ลุงเลยสอนเทคนิคการทอและวิธีดูผ้าเดนิมให้อิชาน เมื่ออิชานทำความเข้าใจในเทคนิคการทอได้สักระยะใหญ่แล้ว เขาก็ค่อยๆทดลองดัดแปลงจนได้วิธีการทอเดนิมในแบบที่ตัวเองต้องการ
“ ผมใช้ชีวิตอยู่ที่โอกะยะมะรวมๆแล้วสองปี จากนั้นก็กลับไปนิวยอร์ก แผนของผมตอนนั้นคือการสร้างแบรนด์เดนิมยีนส์ของตัวเองซึ่งยีนส์ประเภทนี้ต้องใช้จักรเย็บผ้าซิงเกอร์เท่านั้นเพราะฝีเข็มและกลไกของของจักรเย็บผ้าแอนทีคมันใกล้เคียงกับการเย็บด้วยมือคนมากที่สุด พอไปถึงนิวยอร์ก ผมก็เริ่มออกตามหาจักรเย็บผ้า ทีแรกก็นึกว่าจะหาเจอง่ายๆนะ เพราะจักรมันเป็นแบรนด์ของอเมริกาซึ่งตัวโรงงานปิดไปตั้งแต่ปี 1980 แล้ว แต่ปรากฏไอ้จักรที่ว่านี้มันถูกขายไปทั่วเลย ทั้งในอเมริกาและแถบเอเชีย”


การตามหาจักรเย็บผ้าตัวเดียวคงไม่ใช่เรื่องยากแต่ที่อิชานต้องการคือสิบตัว เพราะจักรซิงเกอร์แต่ละตัวแต่ละรุ่นก็มีคุณสมบัติและกลไกในการทำงานต่างกัน เขาใช้เวลาอยู่สองปีในการตามหาจักรเย็บผ้าจนได้มาทั้งหมดเกือบร้อยตัวแต่คัดเหลือที่น่าจะใช้งานได้จริงๆ 60 ตัว ซึ่งอิชานใช้เวลาอยู่หนึ่งปีในการทดลองใช้จักรจนครบทุกตัวจนได้ 10 ตัวที่เหมาะกับงานเดนิมยีนส์ของเขาจริงๆ
“ จักรโบราณพวกนี้ไม่มีใครมานั่งสอนเราได้หรอกว่ากลไกมันคืออะไรบ้าง ผมต้องศึกษาเอาเองจากหนังสือ และที่บอกว่านั่งฝึกเย็บจักรอยู่หนึ่งปีเนี่ย เอาเข้าจริง ครึ่งหนึ่งของช่วงเวลานั้นผมใช้ไปกับการซ่อมจักรด้วยนะ ”
อิชานหยิบกางเกงยีนส์ตัวหนึ่งขึ้นมา เขาเปิดให้ฉันดูรายละเอียดทั้งการเย็บด้านนอกและด้านใน ฝีเข็มของการเย็บในส่วนต่างๆมีความแตกต่างชัดเจนว่ามาจากการใช้จักรเย็บผ้าที่ต่างกัน ต่อกางเกงเดนิมยีนส์หนึ่งตัว อิชานใช้จักรเย็บผ้าซิงเกอร์รุ่นดีที่สุดในช่วงปี 1905-1945 ทั้งหมดสิบตัวในการเย็บ
บ้ากว่านี้ไม่มีอีกแล้ว !
และที่บ้ากว่านั้นคือเมื่อปีที่แล้ว อิชานได้ตัดสินใจขายรถพอร์ชของเขาเพื่อเอาเงินมาลงทุนกับแบรนด์เดนิมยีนส์ที่ใช้ชื่อว่า boweryblue เพราะนอกจากรายละเอียดของฝีเข็มที่ต้องใช้จักรซิงเกอร์รุ่นโบราณเท่านั้นแล้ว ตัวผ้าเองก็มาจากด้ายคอตตอนอเมริกาที่อิชานส่งไปย้อมที่โรงงานในญี่ปุ่นแล้วจึงค่อยผ่านเทคนิคการทอผ้าแบบโบราณโดยลุงคิยะมะในเมืองโอกะยะมะจนได้ออกมาเป็นเดนิม และจากนั้นจึงส่งกลับไปที่สตูดิโอของอิชานในนิวยอร์คเพื่อตัดเย็บ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายทั้งนั้น

ปัจจุบันอิชานอาศัยอยู่ในนิวยอร์กและหากนับจากจุดเริ่มต้นที่เขาคิดอยากทำแบรนด์เดินิมยีนส์ของตัวเองผ่านช่วงเวลาของการค้นคว้าทดลองและตามเก็บสะสมจักรเย็บผ้าแล้ว ก็ใช้เวลาไปทั้งหมดห้าปีพอดี เขามีสตูดิโอส่วนตัวอยู่ที่บรู๊กลิน ใช้วิธีขายเดนิมยีนส์ผ่านเว็บไซด์ boweryblue.com อิชานไม่มีลูกจ้างไม่มีผู้ช่วย เพราะเดนิมยีนส์ในแบบของเขานั้นไม่มีใครสามารถทำได้และจะมานั่งสอนกันก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เดนิมยีนส์หนึ่งตัว อิชานใช้เวลาในการเย็บหนึ่งถึงสองวัน โดยมากเป็นงานประเภท made to order
ล่าสุด เมื่อวานนี้ฉันมีโอกาสได้คุยอัพเดทชีวิตกับอิชานทางอีเมลล์ เขากำลังจะมาเปิดสาขาในเมืองไทย รวมทั้งในอีกไม่กีอาทิตย์ข้างหน้าเรื่องราวของคนบ้าแบบเขากำลังจะถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์
ดีใจจังที่เกือบทั้งชีวิตของฉันมีแต่คนบ้าแบบนี้เข้ามาวนเวียน